ประวัติความเป็นมา
ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ กรมอนามัย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 311 ไร่ 24 ตารางวา เลขที่ 122 หมู่ 8 ถนนจามเทวี ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2518 โดยได้รับมอบอาคารเหลือใช้สงครามของทหารสหรัฐอเมริกา จากกระทรวง กลาโหม จัดตั้งเป็นศูนย์งานวางแผนครอบครัวภาคเหนือ ลำปาง มีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายการลดอัตราการเพิ่มประชากร ซึ่งอยู่ใน ระดับสูงขณะนั้น
เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ 5 (2525 - 2529) พบว่าสามารถลดอัตราการเพิ่มประชากรตาม เป้าหมายที่ตั้งไว้ และพบว่ายังมีประชากรชาวเขา; ซึ่งอยู่กระจัดกระจายในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนประมาณ 5 - 7 แสนคน ยังมีอัตราเพิ่มของประชากรอยู่ในระดับสูง กรมอนามัยจึงมีนโยบายให้ศูนย์งานวางแผนครอบครัวภาคเหนือ เข้าไปรับผิดชอบดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนวิจัยค้นคว้า เพื่อลดอัตราเพิ่มประชากรชาวเขา และดำเนินงานอนามัยแม่และเด็ก โดยเปลี่ยนชื่อ เป็น ศูนย์วางแผนครอบครัวชาวเขา ลำปาง ตามคำสั่งที่ 259 / 2531 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531
จากการดำเนินงานพบว่างานอนามัยครอบครัวอย่างเดียวยังไม่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยชาวเขาได้ ด้วยยังมีปัญหาสาธารณสุข อีกหลายด้านที่ควรได้รับ การส่งเสริมเป็นต้นว่างานโภชนาการ งานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นงานสำคัญพื้นฐาน ของกรมอนามัย แต่เนื่องจาก ประชากรชาวเขามีหลากหลายเผ่าพันธุ์ มีความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี การจะดำเนินงาน ให้ประสบผล สำเร็จจำเป็นจะต้องมีกลวิธีพิเศษที่แตกต่างไปจากพื้นราบ ดังนั้น กรมอนามัย จึงมีคำสั่งให้ศูนย์วางแผนครอบครัวชาวเขา ลำปาง รับผิดชอบงาน สำคัญพื้นฐานของกรมอนามัย ในการดำเนินคุณภาพชีวิตชาวเขาและให้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์พัฒนาอนามัยชาวเขาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2534
เมื่อกรมอนามัยมีการปรับโครงสร้าง และเห็นว่างานอนามัยในชาวเขายังมีปัญหาอุปสรรคอยู่มาก จึงกำหนดให้ศูนย์วางแผนครอบครัว ชาวเขาเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่าฝ่ายภายใต้กองวางแผนครอบครัวและประชากร ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 55 ง ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 หลังจากนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งเพื่อความเหมาะสม และสอดคล้องกับการปฏิบัติงานของกรมอนามัย และเห็นว่าควรมีการบูรณาการงานของกรมอนามัยในพื้นที่สูง อธิบดีกรมอนามัย (นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ) จึงให้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานใหม่ เป็นศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง ตามคำสั่งกรมอนามัย ที่ 1768 / 2542 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2542 ต่อมาจากการปรับเปลี่ยนระบบบริการราชการ ของรัฐบาลได้มีการปรับปรุงโครงสร้าง และบทบาทหน้าที่ใหม่ โดยกรมอนามัยมีบทบาทเน้นหนักในด้านวิชาการมากขึ้น ดังนั้นได้มีคำสั่ง ภายในอีกครั้ง ตามคำสั่งกรมอนามัย ที่ 1140 / 2546 ลงวันที่ 1 กันยายน 2546 ขณะที่นายแพทย์ธีระ พิทักษ์ประเวช เป็นอธิบดีกรมอนามัย ได้มอบหมายให้ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง มีบทบาทหน้าที่ดังนี้
1.ศึกษา วิจัย พัฒนาและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับงานอนามัยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มประชากรพื้นที่สูง
2.พัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบและมาตรฐานการดำเนินงานอนามัยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มประชากรพื้นที่สูง
3.ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพแก่เจ้าหน้าที่
4.เป็นศูนย์ข้อมูลด้านส่งเสริมสุขภาพชาวเขา
5.เป็นเครือข่ายการดูงานด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ชาวเขาแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
6.เป็นศูนย์สาธิตพัฒนาเด็กเล็กของกรมอนามัย
7.สนับสนุนการประชุมสัมมนา สัมมนาแก่หน่วยงานต่าง ๆ
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูงได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ และได้แบ่งโครงสร้าง ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มอำนวยการ
2.กลุ่มยุทธศาสตร์และกำลังคน
3.กลุ่มส่งเสริมสุขภาพ